แต่ละปี เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเครื่องจักรกลเกษตรค่อนข้างสูงเนื่อง จากขาดการบำรุงรักษาเครื่องยนต์อย่างถูกวิธี และไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิต ทำให้ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพและอายุการใช้งานของเครื่องยนต์สั้นลง กองส่งเสริมวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรมีคำแนะนำในการ บำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตรอย่างถูกวิธี 10 ปี ไม่มีซ่อม เพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับเกษตรกร ทั้งก่อนใช้งาน ขณะใช้งาน และดูแลรักษาหลังใช้งานด้วย

            นางดาเรศร์ กิตติโยภาส ผู้อำนวยการกองส่งเสริมวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การบำรุงรักษาเครื่องยนต์ดีเซลสูบเดียวใช้กับรถไถเดินตาม รถเกษตรกร (อีแต๋น) และเครื่องสูบน้ำ ก่อนใช้งานเกษตรกรควรทำ 5 ตรวจ ดังนี้คือ
1.ตรวจน้ำให้เต็มถังอยู่เสมอเพื่อไม่ให้เครื่องยนต์ร้อนจัด
2.ตรวจน้ำมันเชื้อเพลิง ควรเติมน้ำมันให้เต็มถัง
3.ตรวจน้ำมันเครื่องให้ได้ระดับ (สังเกตที่ก้านวัดต้องอยู่ที่ขีดบน)
4.ตรวจหม้อกรองอากาศ เติมน้ำมันเครื่องให้ได้ระดับตามขีดที่กำหนด
5.ตรวจสายพานพัดลมให้ตึง (ใช้นิ้วหัวแม่มือกดบนสายพานให้หย่อนได้ 10-15 มิลลิเมตร)

ก่อนติดเครื่องควรปฏิบัติตาม 3 ขั้นตอน เพื่อให้เครื่องติดง่ายและมีความปลอดภัย
1.ต้องปรับคันเร่งไปยังตำแหน่งติดเครื่อง
2.หมุนเครื่องยนต์ให้ตึงมือโดยให้มือหมุนอยู่ด้านล่างจะมีแรงดึงดีกว่า
3.ยกคันยกวาล์วขึ้น หมุนเครื่องให้ได้รอบและปล่อยคันยกวาล์ว แล้วหมุนต่อให้แรงขึ้น เครื่องจะติดง่าย
หลังจากเครื่องติดแล้วควรอุ่นเครื่องเดินเบาประมาณ 5 นาที ขณะใช้งาน เร่งเครื่องให้ได้รอบการทำงาน (ประมาณ 1,800-2,000 รอบต่อนาที) เพื่อป้องกันควันดำ เขม่า และกินน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะช่วยให้เครื่องยนต์ใช้งานทนทานขึ้น หลังใช้งาน ควรเติมน้ำให้เต็มถังเพื่อป้องกันการเกิดน้ำและสนิมในถังน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนั้นควรหมุนเครื่องยนต์ให้อัดสุดเพื่อป้องกันปัญหาวาล์ว (ลิ้น) ติดค้างและความชื้นเข้าไปในกระบอกสูบทำให้เกิดสนิม หากเก็บไว้เป็นเวลานาน

ทางด้าน นายณรงค์ ปัญญา ผู้อำนวยการกลุ่มวิศวกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร กองส่งเสริมวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเสริมว่าการใช้งานเครื่องยนต์ในพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองมาก ทุกสัปดาห์ควรล้างทำความสะอาดไส้กรองอากาศและเติมน้ำมันเครื่องใหม่ให้ได้ ระดับ กรองน้ำมันโซล่ามีน้ำหรือสิ่งสกปรกอยู่ในถ้วยกรองควรล้างทำความสะอาดด้วย

ทุก ๆ 1 เดือน (100 ชั่วโมงทำงาน) ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องใหม่ และเติมน้ำมันเครื่องให้ได้ระดับขีดบน ล้างทำความสะอาดชุดหม้อกรองอากาศ และควรล้างชุดกรองน้ำมันโซล่าถ้ามีน้ำหรือสิ่งสกปรกอยู่ในถ้วยกรอง กรณีไส้กรองโซล่าอุดตันหรือฉีกขาดต้องเปลี่ยนใหม่ และทุก ๆ 3 เดือน (300 ชั่วโมงทำงาน) ต้องเปลี่ยนน้ำในหม้อน้ำโดยเติมน้ำสะอาดให้เต็ม ทั้งยังต้องล้างทำความสะอาดถังน้ำมันโซล่า และปรับตั้งวาล์วไอดีและวาล์วไอเสีย ให้มีระยะห่าง 0.20 มิลลิเมตร

กรณีหยุดใช้เครื่องยนต์นานเกิน 1 เดือน ให้ปิดก๊อกน้ำมันเชื้อเพลิง ล้างไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงและล้างไส้กรองอากาศ หยอดน้ำมันเครื่องเข้าไปในท่อไอดีประมาณ 1 ฝา ทำการหมุนเครื่องยนต์เพื่อให้น้ำมันเครื่องเคลือบกระบอกสูบให้ทั่ว หมุนเครื่องยนต์ให้อัดสุด ลิ้นไอดี-ไอเสียจะปิดสนิทเพื่อป้องกันลิ้นค้างและความชื้นเข้าไปในกระบอกสูบ ทำให้เกิดสนิม ทำการถ่ายน้ำหล่อเย็น คลุมเครื่องยนต์เพื่อป้องกันฝุ่นและแมลงเข้าไปทำรัง และควรเก็บเครื่องยนต์ไว้ในที่ร่มและอากาศถ่ายเทได้ดี ซึ่งดูแลรักษาเครื่องยนต์เพียงเท่านี้ใช้งาน 10 ปี ไม่มีซ่อม

แหล่งข้อมูล http://www.aepd.doae.go.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *